น้ำตาลคือยาพิษ จริงหรือไม่?
- Prattana Nitijessadawong - Pin
- 19 ก.ย. 2564
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 23 ก.ย. 2564

น้ำตาล และ ความหวาน เราทราบกันดีว่า ถ้ากินมากไป ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนอาจถึงขั้นเป็นโรคเบาหวานได้ และส่งผลให้เส้นเลือดเปราะง่าย บ้างก็ว่ากินน้ำตาลแล้วแก่เร็ว จริงมั้ย? เพราะอะไร?
ผลเสียของการกินน้ำตาลมากเกินไป ในเชิงเวชศาสตร์ชะลอวัย
1. ภาวะเลือดเป็นกรด
การเผาผลาญน้ำตาลให้ได้พลังงานจะเกิดของเสียคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งหากรับประทานน้ำตาลอย่างต่อเนื่องในปริมาณมากเกินไป จะทำให้เกิด CO2 ในปริมาณมาก หากปอดไม่สามารถกำจัดก๊าซ CO2 ทางระบบหายใจได้เพียงพอ จะทำให้ CO2 สะสมอยู่ภายในเลือดมากเกินไป จนเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้
ในภาวะที่เลือดเป็นกรดมากขึ้น (Acidemia) ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคติดเชื้อ โรคเรื้อรัง และโรคมะเร็งหลายชนิด เนื่องจากในระยะยาว สภาวะความเป็นกรดจะทำให้โครงสร้าง และการทำงานของเซลล์เกิดความเสียหาย เซลล์จะเกิดความเสื่อมและถูกทำลายได้เร็วขึ้น และเซลล์ที่ถูกทำลายก็จะสร้างกรดเพิ่มมากขึ้นอีก
2. เร่งการเกิดริ้วรอยก่อนวัย
ผิวประกอบด้วยคอลลาเจนประมาณ 75% ซึ่งคอลลาเจนจะทำหน้าที่อุ้มน้ำ ทำให้ผิวดูชุ่มชื้น มีความยืดหยุ่น เต่งตึง เรียบเนียน ผิวฟูกระชับ แต่โมเลกุลของน้ำตาลจะเข้าไปจับกับคอลลาเจนใต้ผิว ด้วยปฏิกริยา ‘ไกลเคชั่น’ ทำให้คอลลาเจนที่ผิวเสื่อมสภาพ ความยืดหยุ่นลดน้อยลง ส่งผลให้ผิวแห้ง ไม่ฟูกระชับ มีริ้วรอย ร่องลึก หย่อนคล้อย ก่อนวัยอันควร
3. ทำให้หลอดเลือดเปราะ แตกง่าย
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง หลอดเลือดเปราะมากขึ้น เสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดแตกได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดอุดตัน นำไปสู้โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้
4. เป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังอื่นๆ
ความหวานของน้ำตาลที่ทำให้เรามีความสุขนั้น เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไปเป็นเวลานานทำให้เกิดการสะสมในเลือด ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ระบบการย่อยอาหารไม่ดี มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เป็นต้น

น้ำตาลมีแต่ข้อเสียหรอ มีข้อดีบ้างมั้ย?
น้ำตาล เป็นหน่วยเล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่ให้พลังงาน โดยเฉพาะเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง นอกจากจะให้พลังงานแล้ว เมื่อเรากินน้ำตาลร่างการจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่คลายเครียดอย่าง เซโรโทนิน รวมถึงฮอร์โมนเอนดอร์ฟินที่ได้รับการขนานนามว่า "สารแห่งความสุข" ด้วย หากสังเกตเวลาที่เรารับประทานของหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเช่น ชาไข่มุก เราจะมีความสุข รู้สึกผ่อนคลายความเครียด ด้วยความสุขที่ได้จากการกินน้ำตาลนี้ ทำให้คนเราต้องการกินน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะ "เสพติดน้ำตาล"
น้ำตาล คือสารเสพติดหรือไม่?
น้ำตาลสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกริยาในสมองส่วน "ให้รางวัล" (reward center) เช่นเดียวกับโคเคน หรือเฮโรอีน และแอลกอฮอล์ กว่าเราจะรู้ว่า น้ำตาลที่เราติดหวานมาตั้งแต่เด็กเป็นอันตรายต่อเราแล้ว ก็ต่อเมื่อ โรคร้ายอย่างเบาหวาน หรือปัญหาน้ำหนักเกินมาเยือน
ภาวะ "Sugar Blues" อาการของคนติดนํ้าตาล
คนทีมีอาการอยากกินของหวานๆ ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้กินจะรู้สึกโหยๆ หงุดหงิด หรือบางครั้งอาจถึงขั้นซึมเศร้าไปเลย อาการแบบนี้เกิดจากการเสพติดน้ำตาลที่เรียกว่า “Sugar Blues” ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกโหยหานํ้าตาลทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 น. และ 15.00 น. หากไม่ได้กินน้ำตาลจะทำให้รู้สึกหดหู่ หรือซึมเศร้ามากกว่าปกติ เนื่องจากเกิดจากภาวะนํ้าตาลในเลือดตํ่า ซึ่งถ้ายังปล่อยให้ร่างกายเป็นแบบนี้ต่อไปในระยะยาว จะยิ่งส่งผลเสียกับร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย สมาธิสั้น เป็นภูมิแพ้ และความดันโลหิตตํ่า ยิ่งหากน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณมาก จะถูกเก็บสะสมไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) และจะส่งกลับไปที่กระแสเลือดอีกครั้ง สุดท้ายจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมันไปสะสมตามจุดต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย เช่น หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพก เป็นต้น ส่งผลให้น้ำหนักเกิน เกิดภาวะไขมันพอกตับ และไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) สูง ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเสื่อมลง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ปรารถนา นิธิเจษฎาวงศ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารบำบัดโรค
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (ก.อช. 0961)
Comentários