รู้หรือไม่ ?!? "ชาเขียว" มีดีมากกว่าที่คิด
- Prattana Nitijessadawong - Pin
- 14 ก.ย. 2564
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 5 มิ.ย. 2565

ณ เวลานี้ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเมนูเครื่องดื่ม "ชาเขียว" ใช่มั้ยคะ ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวมัจฉะ หรือชาเขียวแบบใส ก็ต่างเป็นเมนูโปรดของพวกเราทั้งสิ้น แต่รู้มั้ยคะว่า...
"ชาเขียวต่างจากชาทั่วไปยังไง"

ชาเขียว คือ ชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก แต่เป็นการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ สารสำคัญที่พบในชาเขียว ได้แก่ กรดอะมิโน วิตามิน B, C, E สารในกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ (xanthine alkaloids) คือ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางส่งผลให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และที่สำคัญมีสาร คาเตชิน (catechins) ซึ่งมีความสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ
คาเตชิน (catechins) คืออะไร?

คาเตชิน (catechins) เป็นสารประกอบในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) คาเตชินที่พบมากที่สุดในชาเขียวคือ สาร EGCG (Epigallocatechin gallate) EGCG เป็นเหมือนฉนวนที่เข้าไปช่วยป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเมื่อไม่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ร่างกายจึงไม่ผลิตสารอนุมูลอิสระ ดังนั้นคาเตซินจึงมีคุณสมบัติเด่นในการชะลอความเสื่อมของเซลล์ ชะลอวัย เพิ่มการเผาผลาญไขมัน ลดความอ้วน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
ในใบชาประเภทต่างๆ ก็ไม่ได้มีปริมาณของสารคาเตชินเท่ากัน โดยหากแบ่งประเภทของชาตามกระบวนการ ผลิตเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ ซึ่งชาเขียวเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก ส่วนชาอู่หลงเป็นชา ที่หมักบางส่วน และชาดำเป็นชาหมักอย่างสมบูรณ์ ในระดับการหมักที่ต่างกันทำให้ชาแต่ละชนิดมีปริมาณสารคาเตชินไม่เท่ากัน กล่าวคือ ชาเขียวมีสารคาเตชิน (catechins) สูงที่สุด (10-30% โดยน้ำหนัก) ส่วนชาอู่หลงเป็นชาที่มีการหมักบางส่วน และชาดำเป็นชาที่ผ่านการหมักอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น คาเตชินจะถูกออกซิไดซ์ออกไป จึงทำให้มีสารคาเตชินน้อยที่สุด
ดื่ม "ชาเขียว" อย่างไร ให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ

จากงานวิจัยช่วยยืนยันว่าการบริโภคชาเขียวในระยะเวลาสั้นๆ มีความปลอดภัย แต่ถ้าบริโภคในปริมาณสูงอาจส่งผลให้ตับถูกทำลาย ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ หรือมีอาการไข้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชาเขียวในขนาดสูง และติดต่อกันเป็นเวลานาน
การดื่มชาเขียวที่ชงเองนอกจากจะได้รับกลิ่นหอมและรสชาติจากชาเขียวแท้แล้ว ยังได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ดีกว่าเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูป ซึ่งจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและมีปริมาณชาเขียวที่เจือจาง
ชาเขียวร้อน 1 ถ้วยมี EGCG ประมาณ 100 - 200 มก.
จากข้อมูลงานวิจัยความเป็นพิษของชาเขียวที่กล่าวไว้เบื้องต้น
ในแต่ละวันจึงไม่ควรดื่มเกิน 10 - 12 ถ้วย
วิธีชงชาเขียวในปริมาณที่เหมาะสม คือ ชงใบชา 1 - 2 ช้อนชาในน้ำร้อน วันละ 3 ถ้วย รับประทานในระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ส่วนเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่จะมีปริมาณใบชาน้อยมากจึงทำให้มี EGCG น้อย หากจะดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เพื่อที่จะให้ได้รับประโยชน์จาก EGCG อย่างเพียงพอ อาจจะต้องดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวหลายขวดต่อวัน ซึ่งจะทำให้ได้รับปริมาณน้ำตาลสูงเกินไป จึงไม่ควรดื่มชาเขียวสำเร็จรูปบ่อยจนเกินไป ดื่มเพื่อดับกระหายเพียง 1 - 2 ครั้งต่อวัน และไม่ควรดื่มติดต่อกันทุกวัน
การดูแลสุขภาพรอบด้านอย่างจริงจัง นอกจากการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และถูกสุขลักษณะแล้ว การดื่มชาเขียวเป็นประจำทุกวันไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น ก็จะช่วยปรับสมดุลสุขภาพของคุณ ทั้งสมดุลระบบเผาผลาญ สมดุลน้ำตาล และไขมันในเลือด อีกทั้งยังชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย นำไปสู่การชะลอวัยอย่างเต็มรูปแบบได้อีกด้วย แถมทริคอีกเล็กน้อย การเลือกชาเขียวที่มีคุณภาพ ควรเลือกชาที่ผลิตจากชาเต็มใบ ซึ่งจะสามารถคงปริมาณคาเตชินไว้ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Hirano, R., Momiyama, Y., Takahashi, R., Taniguchi, H., Kondo, K., Nakamura, H. and Ohusuzu, F. (2002). Comparison of green tea intake in Japanese patients with and without angiographic coronary artery disease. American Journal of Cardiology 90: 1150– 1153
Kao, Y. H., Chang, H. H., Lee, M. J. and Chen, C. L. (2006). Tea, obesity, and diabetes. Molecular Nutrition and Food Research 50: 188–210
Liebert,M.,Licht,U., Buhm,V.and Bitsch, R,1999.Artioxidant properties and totalphenolics content of green and black and black tea under different brewing conditions .European European Food Research and technology.208(3):217-220.
Rains, T. M., Agarwal, S. and Maki, K. C. (2011). Antiobesity effects of green tea catechins: a mechanistic review. The Journal of Nutritional Biochemistry 22: 1-7.
Yuan, J. M., Sun, C. and Butler, L. M. (2011). Tea and cancer prevention: Epidemiological studies. Pharmacological Research 64: 123-135.

ปรารถนา นิธิเจษฎาวงศ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารบำบัดโรค
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (ก.อช. 0961)

ปรึกษาการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัยเห็นผลชัดเจน
30 นาที
Comments